วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

คำและพยางค์

  คำ คือเสียงที่เปล่งออกมา เเละมีความหมายอย่างหนึ่งจะเป็นกี่พยางค์ก็ได้ เช่น 
รถ มี 1 คำ 1 พยางค์ หมายถึง ยานพาหนะชนิดหนึ่ง
โรงเรียน มี 1 คำ 2 พยางค์ " สถานที่ศึกษา
นาฬิกา มี 1 คำ 3 พยางค์ " สิ่งที่ใช้บอกเวลา


พยางค์ คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง จะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ พยางค์เเต่ละพยางค์ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ เสียงพยัญชนะ ตัวสะกด เเละ ตัวการันต์


ตัวอย่างการแยกพยางค์
1. ศรีรัตนโกสินทร์ อ่านว่า สี-รัด-ตะ-นะ-โก-สิน
2. กรมพระกำเเพงเพชรอัครโยธิน อ่านว่า กรม-มะ-พระ-
กำ-เเพง-เพ็ด-อัก-คะ-ระ-โย-ทิน


จังหวะในการพูดกลุ่มคำที่สัมพันธ์กัน
เมื่อพิจารณาการออกเสียงพูดของภาษาไทย เราจะสังเกตเห็นว่า มีการออกเสียงพยางค์หนักบ้างเบาบ้างตามลักษณะของคำ ตามจังหวะของคำที่ทำหน้าที่ต่างๆ ในประโยค และตามการกำหนดความหมายของคำที่เรียงกันในประโยคหรือข้อความที่พูดนั้น คำที่เรียงตามลำดับกันมาเหมือนๆ กัน ถ้าออกเสียงพยางค์หนักเบาต่างกัน หรือเว้นจังหวะระหว่างพยางค์หรือคำต่างกัน ก็จะสื่อความหมายต่างกัน การที่จะทำความเข้าใจภาษาไทยจึงต้องการความรู้ทั้งเรื่องเสียงของคำ การลงน้ำหนักพยางค์ และการเว้นจังหวะของพยางค์หรือคำด้วย ลองพิจารณาประโยคตัวอย่างต่อไปนี้
ถ้าครูยกตัวอย่างมาก นักเรียนก็จะเข้าใจดี
ถ้าครูยกตัว อย่างมาก นักเรียนก็อาจจะหลงชื่นชมครูหรือไม่ก็ไม่ชอบครูไปเลย

ดูซิ จะเอาข้าวคลุกกะปิ ก็หมด
ดูซิ จะเอาข้าวคลุก กะปิก็หมด

ลูกจ้าง มีไว้ก็ต้องให้เขาทำงาน
ลูก จ้างมีไว้ก็ต้องให้เขาทำงาน

เมื่อจะผ่าตัด ตอนเช้าต้องให้งดอาหาร
เมื่อจะผ่าตัดตอนเช้า ต้องให้งดอาหาร

เด็กคนนี้ ไม่สวยเหมือนแม่
เด็กคนนี้ไม่สวย เหมือนแม่

เพราะนายสีเป็นคนดีกว่า นายแสงจึงถูกลงโทษ
เพราะนายสีเป็นคนดีกว่านายแสง จึงถูกลงโทษ

ตัวอย่างข้อความที่ยกมาข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า เพียงแยกพยางค์ผิดที่นิดเดียว ความหมายของข้อความที่พูดก็ต่างกันไป ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้

ทำไมมา เอาห้าโมง
ทำไมมาเอา ห้าโมง

เขายก ตัวอย่างมาก
เขายกตัว อย่างมาก

หนังสือเล่มนี้มันดี
หนังสือเล่มนี้ มันดี

กาแฟเย็น หมด
กาแฟ เย็นหมด

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่า การลงน้ำหนักพยางค์หนักเบาผิดกันก็ทำให้สื่อความหมายต่างกัน ในการสอนพูดสอนอ่านครูจึงควรให้ความสำคัญกับการแบ่งวรรคตอนของข้อความ สอนการลงน้ำหนักพยางค์ และการรวบพยางค์ซึ่งอยู่ในกลุ่มความหมายเดียวกันเข้าไว้ด้วยกันด้วย ในการอ่านเมื่อสะกดคำได้แล้วควรให้ออกเสียงตามลักษณะที่เป็นเสียงพูดปรกติในภาษา


พยางค์หนักเบาในภาษาไทย
ในภาษาไทย คำสองพยางค์มักจะออกเสียงพยางค์หน้าเป็นพยางค์เบา พยางค์หลังเป็นพยางค์หนัก แต่ก็มีหลายคำที่ออกเสียงเป็นพยางค์หนักทั้ง ๒ พยางค์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหมายของคำแต่ละคำ ในการสอนอ่านจึงต้องสอนให้สังเกตพยางค์ที่ลงน้ำหนักต่างกันด้วย เช่น ตัวอย่างคำต่อไปนี้ ซึ่งเป็นคำสองพยางค์ ในแต่ละคู่ พยางค์หน้าเขียนเหมือนกัน แต่จะออกเสียงต่างกัน
ประเดี๋ยว ประเปรียว
กะเบน กะเกณฑ์
ประปา ประพรม
ละลาย ละทิ้ง
ละเลง ละเลย
สะดวก สะสม
สุภาพ สุสาน
ฉบับ ฉะฉาน
ชะลอม ชะล้าง
สะดวก สะสาง
จรูญ จะแจ้ง
คำในแถวหน้าออกเสียงพยางค์หน้าเป็นพยางค์เบา พยางค์หลังเป็นพยางค์หนัก พยางค์หน้าซึ่งออกเสียงเบานั้น ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะต้นกับสระเสียงสั้น วรรณยุกต์สามัญ ส่วนคำในแถวหลัง ออกเสียงเป็นพยางค์หนักทั้งสองพยางค์ พยางค์หน้าประกอบด้วยเสียงพยัญชนะต้น สระเสียงสั้น พยัญชนะท้ายซึ่งเป็นเสียงกักในลำคอ และมีวรรณยุกต์เอกหรือตรี การอ่านคำภาษาไทยที่จะให้ถูกต้องจึงต้องรู้จักคำและความหมายของคำด้วย จะอ่านตามเสียงที่ตัวอักษรแทนโดยไม่พิจารณาลักษณะอื่นด้วยไม่ได้

คำพยางค์เดียวและคำหลายพยางค์
คำในภาษาไทยมีทั้งคำพยางค์เดียว คำสองพยางค์ และคำหลายพยางค์ ในการออกเสียงคำเหล่านั้น จะมีพยางค์หนักและพยางค์เบาคละกันไป ตามลักษณะของคำและความหมายของคำนั้น โดยทั่วไปคำพยางค์เดียวจะลงเสียงหนัก (ยกเว้น คำไวยากรณ์ เช่น คำช่วยกริยา คำเชื่อม คำบุพบท ในบางกรณี) คำสองพยางค์จะลงน้ำหนักที่พยางค์หลัง ส่วนพยางค์หน้าอาจลงน้ำหนักหรือลดน้ำหนักเป็นพยางค์เบา คำตั้งแต่ ๓ พยางค์ขึ้นไปจะมีพยางค์เบาแทรกอยู่ โดยที่พยางค์สุดท้ายจะเป็นพยางค์หนักเสมอ และพยางค์เบา ๒ พยางค์ติดกันไม่ใคร่ปรากฏ ที่มีอยู่บ้างล้วนเป็นคำที่ยืมมาจากต่างประเทศหรือคำที่ไม่ทราบที่มา ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างคำสองพยางค์ และคำสามพยางค์ เพื่อแสดงให้เห็นพยางค์ที่ออกเสียงเป็นพยางค์เบาหรือพยางค์ลดน้ำหนัก เช่น

คำสองพยางค์ต่อไปนี้ ออกเสียงพยางค์หน้าเป็นพยางค์เบา
สะดวก สบาย วิชา กะทิ กระท้อน สุพรรณ ประดิษฐ์

คำสองพยางค์ต่อไปนี้ ออกเสียงพยางค์หน้าเป็นพยางค์ลดน้ำหนัก
เวลา อาหาร โรงเรียน หนังสือ ตาราง ผ้านุ่ง เข็มขัด

คำสามพยางค์ต่อไปนี้ ออกเสียงพยางค์ที่ ๑ เป็นพยางค์เบา
มหึมา มะลิวัลย์ กระดานดำ พยายาม ประชาชน

คำสามพยางค์ต่อไปนี้ ออกเสียงพยางค์ที่ ๒ เป็นพยางค์เบา
พัลวัน ราชการ ทรชน คุณภาพ คุณศัพท์ พลเรือน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น